วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชากรศาสตร์

ประชากรศาสตร์

ความหมาย
      
ประชากรศาสตร์ หมายถึง กระบวนการศึกษาเกี่ยวกับประชากรและการเปลี่ยนแปลงของประชากร ทำให้ทราบขนาดหรือจำนวนคนที่มีอยู่ในแต่ละสังคม แต่ละภูมิภาค และระดับโลก รวมทั้งศึกษาการกระจายตัวในด้านพื้นที่ของประชากร และองค์ประกอบทางประชากร
      
ประชากร หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง มีการเพิ่มหรือลด ได้โดยการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ทั้งย้ายถิ่นชั่วคราวและย้ายถิ่นถาวร
      
องค์ประกอบทางประชากร หมายถึง ลักษณะต่าง ๆ ทางประชากร ได้แก่ เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา เศรษฐกิจ สามารถบ่งบอกแนวโน้มของจำนวนประชากรในอนาคต
ความสำคัญของการศึกษาประชากร
      1.
ทำให้สามารถคำนวณคาดการณ์ถึงจำนวนประชากรในอนาคตอย่างคร่าว ๆ
      2.
สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ในการวางแผนด้านต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่น การจัดเก็บภาษี การแบ่งเขตเลือกตั้ง การจัดการสาธารณูปโภค การศึกษา การจัดสวัสดิการสังคม การกระจายผลผลิตด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เป็นต้น
ภาวะการตาย
      
การตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ปรารถนาจะพบ แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอดีตมนุษย์ส่วนใหญ่จะมีอายุไม่ยืน เนื่องจากภัยธรรมชาติ โรคระบาด ความอดอยาก สุขภาพอ่อนแอ จนมาถึงช่วง 300 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มปรับปรุงเทคนิคด้านการเกษตรทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ความอดอยากน้อยลง และในช่วง 200 ปีที่ผ่านมามีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์เริ่มใส่ใจเรื่องความสะอาดสุขภาพร่างกายของตนเองและสภาพแวดล้อมมากขึ้น มนุษย์จึงแข็งแรง อายุยืนยาวขึ้น และมีอัตราตายน้อยลง ทั้งนี้ในช่วง 100 ปีที่แล้วเป็นต้นมา ได้เริ่มมีการทดลองยารักษาโรคซึ่งสามารถควบคุมโรคร้ายได้ ทำให้มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นไปจากเดิมและมีการตายที่น้อยลง
      
การตายทารก เกิดจากสุขภาวะของมารดาและทารกที่ยังไม่ดีเพียงพอ ทำให้ทารกเกิดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เมื่อพ้นจากช่วงทารกเกิดไปแล้ว การตายมักจะมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ และการเกิดโรค
      
รูปแบบการตาย สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการตายในช่วงแรก ๆ ของชีวิตมนุษย์น้อยกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา แต่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการตายมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบอัตราการตายของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

ภาวะการเกิด
      
การเกิด เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ แต่เนื่องจากมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม จึงได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมให้ปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นการเกิดจึงมักไม่ได้เกิดขึ้นโดยเสรี แต่ถูกแทรกแซงโดยสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งเศรษฐกิจ ที่มีความแตกต่างกัน จึงมีผลกระทบต่อการสมรส การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และการให้กำเนิดบุตร
      
อายุแรกสมรส เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นจึงมีการสมรสก่อนให้กำเนิดบุตร ในปัจจุบันพบว่าเพศหญิงจะมีอายุแรกสมรสมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงภาวะที่มีบุตรยาก หรือไม่สามารถมีบุตรได้
      
จำนวนบุตร ประชากรในปัจจุบันเริ่มมีความนิยมที่จะมีบุตรเพียงแค่ 1 หรือ 2 คน ซึ่งไม่สามารถทดแทนพ่อและแม่ในอนาคตได้ ประกอบกับคู่สมรสบางคู่ไม่ต้องการมีบุตร จำนวนประชากรจึงไม่เพิ่ม ทำให้ประชากรมีแนวโน้มลดจำนวนลง การย้ายถิ่น
      
การย้ายถิ่นเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและลดลงได้ แบ่งเป็น 5 ลักษณะได้แก่
      1.
การย้ายถิ่นแบบดั้งเดิม เพื่อการแสวงหาอาหาร ในปัจจุบันคือย้ายจากชนบทสู่เมืองเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม
      2.
การย้ายถิ่นโดยถูกบังคับ เช่น พวกนิโกรอาฟริกาถูกบังคับให้เข้ามาสู่ยุโรปและอเมริกา เป็นต้น
      3.
การย้ายถิ่นที่จำต้องไป เช่น การลี้ภัยทางการเมือง ศาสนา เป็นต้น
      4.
การย้ายถิ่นโดยเสรี ผู้ย้ายถิ่นตัดสินใจไปเอง เกิดขึ้นเฉพาะบุคลหรือครอบครัวเท่านั้น
      5.
การย้ายถิ่นแบบมวลชน คือ การย้ายถิ่นแบบเสรี แต่เป็นการย้ายถิ่นของคนจำนวนมาก เช่นแรงงานย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
      
การย้ายถิ่นภายในประเทศ ผู้ย้ายถิ่นสามารถย้ายถิ่นได้ตามสิทธิของประชากร แบ่งได้ 4 ทิศทาง
      1.
ชนบท เข้าสู่เมือง
      2.
เมือง เข้าสู่ชนบท
      3.
เมือง เข้าสู่เมือง
      4.
ชนบท เข้าสู่ชนบท
      
การย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ทั้งนี้สหประชาชาติได้จำแนกผู้ย้ายถิ่นระหว่างประเทศออกเป็น 4 ประเภท
      1.
ผู้ย้ายถิ่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย
      2.
ผู้ย้ายถิ่นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
      3.
ผู้แสวงหาความคุ้มครองหรือผู้ลี้ภัย
      4.
ผู้ย้ายถิ่นของแรงงานตามสัญญาจ้างระหว่างประเทศ
ลักษณะประชากรไทย
      
ปัจจุบัน (ปี 2553) ประเทศไทยมีประชากร ประมาณ 65 ล้านคน มีโครงสร้างทางประชากรดังนี้
      1.
ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี) มีสัดส่วน 2 ใน 10 ของประชากรไทยทั้งหมด
      2.
ประชากรวันแรงงาน (อายุ 15 ถึง 59 ปี) มีสัดส่วน 7 ใน 10 ของประชากรไทยทั้งหมด
      3.
ประชากรวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วน 1 ใน 10 ของประชากรไทยทั้งหมด
แผนภาพที่ 1 สัดส่วนประชากรตามกลุ่มอายุ
      อัตราเกิดของประชากรไทยในปี 2551 เท่ากับ 14/1000 หรือประมาณ 910,000 คน สำหรับอัตราตายของประชากรไทยในปี 2551 เท่ากับ 7/1000 หรือประมาณ 455,000 คน สัดส่วนเพศ เมื่อแรกเกิดผู้ชายจะเกิดมากกว่าผู้หญิง เล็กน้อย แต่ในวัยสูงอายุ จะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และอัตราตายทารกประมาณ 18/1000 ของทารกที่เกิดภายในปีนั้น หรือประมาณ 16,500 คน
      
ประชากรไทยมีอายุคาดหมายโดยเฉลี่ย 72 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ผู้ชายมีอายุคาดหมายเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิง คือ 70 ปี 3 เดือน ในขณะที่ผู้หญิงมีอายุคาดหมายโดยเฉลี่ย 75 ปี
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น